3 ไอเดียการนำไม้อัด HMR ไปใช้ในงานตกแต่งแบบโมเดิร์นคลาสสิคอย่างมีสไตล์


วันพฤหัสบดี ที่ 6 ตุลาคม 2565 เข้าชม 452 ครั้ง

ไม้อัด HMR นั้นมีคุณสมบัติทนชื้นจึงนิยมใช้ทำเป็นตู้บิ้วท์อินในห้องน้ำส่วนแห้ง ห้องครัว หรือพื้นที่อื่นๆ ที่ความความชื้นสูง และด้วยอีกคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมนั่นคือเนื้อไม้ที่แน่นละเอียดผิวเรียบเนียนจึงสามารถนำไปฉลุลายหรือกรู๊ฟร่องเป็นรูปแบบต่างๆ ได้ ทำให้การตกแต่งภายในมีความสวยงามและน่าสนใจมากขึ้น วันนี้เราจะพาไปชมวิธีการนำไม้อัด HMR ไปประยุกต์ใช้งานในการตกแต่งผนังลูกฟัก ฝ้าดร็อป และงานโปรไฟล์ในรูปแบต่างๆ เพื่อเป็นไอเดียในการตกแต่งกันครับ

ฝ้าดร็อป (Drop Ceiling)

ฝ้าหลุม (Coffered ceiling)        

ใช้ไม้ HMR ทำฝ้าดร็อป (Drop Ceiling), ฝ้าหลุม (Coffered Ceiling)
ฝ้าดร็อปหมายถึง ฝ้าภายในพื้นที่เดียวกันแต่มีการทำระดับให้ต่างกัน
รูปแบบที่นิยมมากที่สุดคือทำให้เป็นหลุมตรงกลางห้องจึงเรียกว่าฝ้าหลุม ส่วนใหญ่มักทำเป็น 2 ชั้น หรือ 3 ชั้น ในการทำฝ้าดร็อปแบบนี้นิยมใช้ไม้ HMR กรู๊ฟร่องให้เป็นเส้นโปรไฟล์เพื่อใช้เป็นบัวฝ้าในการปิดรอยต่อของแผ่นฝ้าเพื่อความสวยงาม

ฝ้าหลุมอีกรูปแบบที่นิยมคือมีลักษณะเป็นแผงติดต่อกัน (Coffered Ceiling) คือการทำฝ้าหลุมเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กเรียงต่อๆ กัน โดยทำให้ช่องในสี่เหลี่ยมนั้นเป็นหลุมลึกขึ้นไปด้านบน ในกรณีนี้นอกจากจะใช้ไม้อัด HMR ทำเป็นบัวฝ้าแล้วยังสามารถใช้ไม้อัด HMR ทำเป็นแผ่นฝ้าได้อีกด้วยเนื่องจากมีการปิดรอยต่อของไม้ด้วยบัวผนังซึ่งจะไม่เห็นรอยต่อของแผ่นไม้

ใช้ไม้ HMR ทำผนังลูกฟัก (HMR Wainscoting, Panel Wall)

ผนังลูกฟักคือการตกแต่งผนังที่เป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะในการตกแต่งสไตล์คลาสสิค หรือโมเดิร์นคลาสสิค ผนังลูกฟักมีลักษณะคล้ายกับลูกฟักประตูนั่นเอง สามารถทำได้ 2 แบบคือ แบบเพาะโครงและแบบใช้ไม้เต็มแผ่น การทำผนังลูกฟักทั้งสองแบบไม่แนะนำให้ติดตั้งบานลูกฟักบนผนังก่ออิฐฉาบปูนโดยตรง เนื่องจากผนังปูนอาจมีความเอียงไม่ได้แนวและมีผิวขรุขระ ต้องทำโครงไม้ปรับให้ได้ดิ่งและปิดผิวหน้าด้วยไม้อัดหรือไม้ HMR ให้เรียบร้อยก่อนจึงจะติดตั้งผนังลูกฟัก   

ผนังลูกฟักแบบเพาะโครงจะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าเนื่องจากใช้ไม้น้อยกว่าและใช้ไม้แผ่นบางในการติดตั้งได้ เริ่มต้นด้วยการติดตั้งกรอบบานลูกฟักก่อนโดยกำหนดขนาดและองศาความลาดเอียง (Taper) ตามที่ต้องการ จากนั้นนำมาประกอบกันเหมือนกรอบรูปโดยเข้ามุม 45 องศา เสร็จแล้วใช้ไม้ที่มีความหนาเท่ากับกรอบเสริมเป็นช่วงๆ ตรงกลางเพื่อป้องกันการยุบตัวของแผ่นลูกฟัก สุดท้ายให้นำแผ่นไม้ HMR หนา 6-9 mm. มาปิดด้านหน้าเป็นบานลูกฟัก จากนั้นให้ติดคิ้วตุ่มไม้รอบกรอบบาน เพื่อเก็บรายละเอียด และติดคิ้วบัวด้านบนตลอดความยาวของแนวผนังลูกฟัก จากนั้นขัดผิวให้เรียบและทำสีเป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ผนังลูกฟักแบบใช้ไม้แผ่นตัน ขั้นตอนคือใช้ไม้ HMR หนาประมาณ 18-25 mm. มาเซาะร่องให้มีลักษณะเป็นลูกฟักจากนั้นก็ติดตั้งเข้ากับผนังแล้วเก็บรายละเอียดบริเวณขอบด้วยคิ้วไม้ ส่วนใหญ่เราจะทำผนังลูกฟักในบริเวณส่วนล่างของผนัง ส่วนด้านบนนิยมติดคิ้วไม้เป็นกรอบให้มีขนาดความกว้างล้อไปกับผนังลูกฟักด้านล่าง การใช้ไม้ HMR ที่มีหนามากๆ มาเซาะร่องนั้นจะมีราคาสูงกว่าการเพาะโครงจึงนิยมใช้ทำเป็นบานตู้มากกว่า

ใช้ไม้ HMR ทำโปรไฟล์ (HMR Profiles)

การทำโปรไฟล์ไม้ HMR นั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบหากเป็นโปรไฟล์ที่ไม่มีลวดลายเป็นเพียงการตัดให้เป็นมุมเอียงตามองศาที่ต้องการสามารถใช้เลื่อยองศา หรือเลื่อยวงเดือนคู่กับจิ๊กได้ แต่หากเป็นโปรไฟล์ที่มีความซับซ้อนหรือมีความโค้งเว้าแนะนำให้ใช้เครื่อง CNC ในการกรู๊ฟร่องเป็นลวดลายต่างๆ ตามที่ต้องการ 

โปรไฟล์ไม้ HMR นำไปใช้ตกแต่งได้หลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการใช้ทำเป็นงานคิ้วบัวตกแต่งฝ้าหรือผนังตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นยังนิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และผนัง 3d art อีกด้วย 

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง


พูดคุย-สอบถาม คลิก