ไม้อัด หรือไม้แต่ละประเภทนั้นมีกระบวนการผลิตและวัตถุดิบที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ไม้มีผิวสัมผัสที่ต่างกัน และมีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกันไปด้วย สามารถนำไปปิดผิวด้วยวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษ เมลามีน หรือแผ่นไฮเพรสเชอร์ลามิเนตที่มีลวดลายและผิวสัมผัสที่คล้ายไม้จริงมากๆ จึงอาจเป็นการยากในการสังเกตจากภายนอก วันนี้เราจะพาไปชมคุณสมบัติเฉพาะตัวของไม้ดังกล่าวพร้อมทั้งวิธีการนำไปใช้งาน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านในการนำไปปรับใช้สำหรับการตกแต่งภายในหรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อินกันครับ
ในปัจจุบันไม้ที่นิยมนำมาใช้ในการตกแต่งภายในหรือนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อิน นั้นแบ่งเป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ไม้ปาร์ติเกิ้ล (Particle Board)
ไม้เอ็มดีเอฟ (MDF)
ไม้เอชเอ็มอาร์ (HMR)
ไม้เอชดีเอฟ (HDF)
ไม้อัด (Ply Wood)
ไม้โอเอสบี (OSB)
ไม้ปาร์ติเกิ้ล (Particle Board)
ไม้อัดชนิดแรกที่จะพามาทำความรู้จักคือ ไม้ปาร์ติเกิ้ล หรือในบางประเทศเรียกว่า ชิปบอร์ด (Chipboard) มีกระบวณการผลิตโดยการนำเศษชิ้นไม้ หรือ แม้แต่ขี้เลื่อย มาประสานกันโดยสารเคมี และนำมาทำการบดอัดด้วยความดันสูง เนื้อไม้จะเหนียวแต่ไม่แน่น มีความเหนียวที่ได้จากเส้นใยที่ประสานกัน แต่เนื้อไม้ก็จะฟู หยาบ ไม่แน่น ในเนื้อไม้จะมีโพรงอากาศเล็กๆ เป็นจำนวนมาก
คุณสมบัติของไม้ปาร์ติเกิ้ล
เป็นไม้อัดที่มีราคาถูก
มีความหนาหลากหลายให้เลือกใช้ตามควมต้องการ
น้ำหนักเบาที่สุดในบรรดาไม้ทดแทนธรรมชาติ ในขณะที่ความแข็งแรงของปาร์ติเกิ้ลบอร์ดจะน้อยกว่าไม้ชนิดอื่นๆ
เนื้อไม้มีการขยายตัวได้ง่าย อายุการใช้งานสั้น การติดตั้งบานพับเฟอร์นิเจอร์จึงไม่ทนทานเท่าไม้อัด
การนำไปใช้งาน
นิยมใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์น็อคดาวน์ เนื่องจากราคาไม่สูง และ สามารถหาซื้อได้ง่าย
ไม้เอ็มดีเอฟ (MDF: Medium Density Fiber Board)
ไม้เอ็มดีเอฟ หรือไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง ผลิตโดยการนำชิ้นไม้มาสับและบดจนละเอียด มาผสมกับกาวชนิดพิเศษ แล้วผ่านกระบวนการอัดเป็นแผ่นด้วยเครื่องอัดคุณภาพสูง ไม้ที่นำมาใช้นั้นอาจจะเป็น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา หรือไม้ชนิดอื่นขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ผิวไม้ที่ได้มีความเรียบเนียน เนื้อแน่นไม่มีรูพรุน นิยมปิดผิวด้วยเมลามีน วีเนียร์ หรือแผ่นไฮเพรสเชอร์ ลามิเนต
คุณสมบัติของไม้เอ็มดีเอฟ
ทำสีได้สวยงาม
ผิวไม้มีความเรียบเนียน
ตัดแต่ง เจาะ ไส บาก ได้ง่ายด้วยเครื่องมือช่างไม้ทั่วไปเนื่องจากเนื้อไม้มีความแน่นและละเอียด
มีหลายความหนาให้เลือกใช้
ไม่กันน้ำ หากโดนน้ำจะบวมพองได้
การนำไปใช้งาน
การนำไปใช้งาน
เหมาะสำหรับใช้ในการตกแต่งพื้นที่ภายในทั่วไป เช่น บิ้วท์หัวเตียง เฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อิน ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ และส่วนตกแต่งอื่นๆ
ไม้เอชเอ็มอาร์ (HMR: HMR High Moisture Resistance Board)
ไม้อัดทนความชื้น ผลิตโดยการนำชิ้นไม้มาสับและบดจนละเอียดแล้วอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติทนความชื้น ทำให้สามารถใช้งานในบริเวณที่มีความชื้นสูงได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในบริเวณที่แช่น้ำหรือโดนน้ำโดยตรง ไม้มีสีเขียวเนื่องจากผสมสีเขียวไว้ในเนื้อไม้เพื่อให้แยกออกจากไม้เอ็มดีเอฟและเอชดีเอฟได้ง่าย นิยมนำไป CNC ทำสี หรือปิดผิวด้วยเมลามีน วีเนียร์ หรือแผ่นไฮเพรสเชอร์ลามิเนต
คุณสมบัติของไม้เอชเอ็มอาร์
สามารถทำสีได้สวยงาม จบงานได้ไว
เนื้อในแน่นละเอียดไม่มีรูพรุนทำให้สามารถตัดแต่งได้ง่ายและทำการตอกยึดได้ดี
มีความแข็งแรงสูง สามารถรับแรงได้มากกว่าไม้อัดทั่วไป
สามารถนำไปฉลุลายหรือแกะสลักเป็นรูปสามมิติแบบนูนต่ำได้ด้วยเครื่อง CNC ได้ และสามารถเจาะ เซาะ ฉลุ ได้อย่างสวยคมไม่เป็นขุย
ใช้งานในบริเวณที่มีความชื้นสูงได้ แต่ไม่สามารถใช้แช่น้ำ หรือโดนน้ำโดยตรงได้
การนำไปใช้งาน
สามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อินบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ตู้เคาน์เตอร์อ่างล้างจาน ตู้ใต้อ่างล้างหน้า หรือใช้ทำชั้นวางของในห้องน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปฉลุลายเพื่อใช้ตกแต่งเป็นฉากกั้นห้อง ฝ้าเพดาน หรือตกแต่งส่วนอื่นๆ ได้
ไม้เอชดีเอฟ (HDF: High Density Fiber Board)
ไม้เอชดีเอฟหรือไม้อัดความหนาแน่นสูง ผลิตโดยการนำชิ้นไม้มาสับและบดจนละเอียดแล้วอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษที่มีประสิทธิภาพในการทนความชื้นได้สูง ไม้ HDF นั้นมีการเพิ่มเนื้อไม้ทำให้แผ่นบอร์ดเนื้อแน่นมากขึ้นส่งผลให้ไม้มีความแข็งแรงสูง เหมาะกับงานที่ต้องใช้รับแรงหรือทนการกระแทกได้ นิยมปิดผิวด้วย วีเนียร์หรือแผ่นไฮเพรสเชอร์ลามิเนต
คุณสมบัติของไม้เอชดีเอฟ
เนื้อในแน่นละเอียดไม่มีรูพรุน มีอัตราการหดและพองตัวต่ำจึงคงรูปได้ดี ไม่บิด โก่ง งอ และตอกยึดได้ดี
มีความหนาแน่นสูงจึงใช้ในบริเวณที่มีแรงกระแทกได้
ไม่สามารถใช้ในบริเวณที่โดนน้ำโดยตรงได้
มีความหนาจำกัด
ไม้มีความแข็ง ทำให้ตัดยากต้องเปลี่ยนใบเลื่อยบ่อยขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ใบเลื่อยชนิดพิเศษถ้าต้องการงานที่เรียบร้อยสวยงาม
การนำไปใช้งาน
เนื่องจากมีความหนาแน่นสูงจึงใช้ในบริเวณที่มีแรงกระแทกได้ เช่น ใช้เป็นผนังกั้นห้อง หรือใช้เป็นส่วนประกอบของบานประตู และ Core Board ของไม้พื้นลามิเนต
ไม้อัด (Ply Wood)
ไม้อัดเกิดจากการฝานให้ได้แผ่นไม้เป็นแผ่นบางๆ แล้วนำมาอัดติดกันโดยใช้กาวเป็นตัวประสาน โดยการประสานของไม้อัดนั้นจะจัดวางไม้บางแต่ละแผ่นให้แนวเสี้ยนขวางตั้งฉากกัน เป็นการเพิ่มความแข็งแรงและลดการขยายตัวในระนาบแผ่นไม้ให้น้อยที่สุด ลวดลายของไม้ขึ้นอยู่กับแผ่นวีเนียร์ที่นำมาปิดทับที่ผิว เช่นไม้สัก บีช แอช
คุณสมบัติของไม้อัด
สามารถทำสีได้ หรือโชว์ลายไม้ได้เลย
เนื้อแน่นมีอัตราการหดและพองตัวต่ำจึงคงรูปได้ดี ไม่บิด โก่ง งอ และตอกยึดได้ดี
มีรุ่นกันน้ำให้เลือกใช้ แต่ราคาค่อนข้างสูง
มีความแข็งแรง ใช้ทำโครงสร้างได้
ไม่เหมาะในการนำมาฉลุลายเนื่องจากเป็นเนื้อไม้จริงที่ซ้อนกันเป็นเลเยอร์นั้นอาจเกิดรอยแตกบิ่นได้ง่าย
การนำไปใช้งาน
เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือบิ้วท์อิน โดยเฉพาะในบริเวณที่ต้องการโชว์เนื้อไม้ ในบางกรณีสามารถใช้ทำโครงสร้างได้
ในท้องตลาดนั้นมีไม้อัดยางที่ใช้สำหรับทำป้ายโฆษณา ฉากกั้น ทำพื้น ทำผนัง ทำพาเลท และทำชั้นวางของแบบชั่วคราวแบบที่ไม่เน้นความสวยงามได้ ข้อจำกัดของไม้อัดยางทั่วไปคือมีลายให้เลือกน้อย และสวยไม่เท่าไม้อัดที่มีการปิดผิว อีกทั้งยังมีความหนาแน่นต่ำ จึงรับแรงและน้ำหนักได้น้อย ไม่เหมาะสมในการนำมาใช้ในงานตกแต่งภายใน
ไม้อัดโอเอสบี (OSB: Oriented Strand Board)
นำชิ้นไม้ที่แบนบางและยาว วางสลับเสี้ยนขวางตั้งฉากกันอย่างน้อย3ชั้น จากนั้นใช้กาวชนิดพิเศษและเรซินเป็นส่วนผสมผ่านกระบวนอัดด้วยความร้อน และแรงดันสูง
คุณสมบัติของไม้โอเอสบี
สวยงามดูเป็นธรรมชาติ มักใช้ตกแต่งสไตล์ลอฟท์ ไม่นิยมทำสี
มีความแข็งแรง ทนทาน ตอก ยึด เจาะ ได้ง่าย
ตัดแต่งได้เหมือนไม้ทั่วไป แต่ไม่นิยมนำมาฉลุลายเนื่องจากเศษไม้จะหลุดร่วงและเห็นลายไม่ชัด
การหดตัวและขยายตัวต่ำมากในทุกๆสภาพแวดล้อม
การนำไปใช้งาน
นิยมใช้ทำเป็น Sub roof สำหรับปู Shingle roof หรือใช้เป็นฝ้าและผนังที่เน้นโชว์ลายไม้ และสามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้แต่ต้องมีการเก็บขอบเป็นอย่างดีไม่ให้เหลือเสี้ยนไม้
"สำหรับอะโกรไฟเบอร์ ผลิตภัณฑ์กลุ่มไฟเบอร์บอร์ด
ที่เราผลิตและจำหน่าย คือ ไม้อัด MDF HDF และ HMR "